กับคำถาม "สนจูนิเปอร์, สนดำ และไม้นำเข้าอื่นๆเลี้ยงในประเทศไทยได้หรือ?"
ย้อนไปเมื่อกว่า 35 ปีก่อน สมัยผู้เขียนเริ่มเลี้ยงบอนไซใหม่ๆ มีโอกาสเห็นรูปต้นสน รวมทั้งไม้ชนิดต่างๆของต่างประเทศซึ่งมองแล้วได้ทั้งความรู้สึกสวยงาม อ่อนช้อย และแข็งแรง ในต้นเดียวกัน อาจเนื่องจากลักษณะของใบที่มีความละเอียด, เปลือกลำต้นที่มีสีแปลกตา, รูปทรงที่อ่อนช้อยและไม่เป็นรูปแบบซ้ำๆกัน ฯลฯ ทำให้รู้สึกหลงไหลในบอนไซมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อมีโอกาสสอบถามผู้ขายในประเทศสมัยนั้นว่าสามารถเลี้ยงต้นไม้เหล่านั้นในเมืองไทยได้หรือไม่ คำตอบจากทุกท่านที่ถามคือ "ไม่ได้แน่นอน เป็นไม้เมืองหนาวจะมาอยู่เมืองร้อนได้ยังไง?" ทำให้รู้สึกเสียดายเมื่อทราบว่าทั้งชีวิตนี้จะไม่สามารถครอบครองไม้สวยๆเหล่านั้นได้
อีก 13-14 ปีต่อมา ผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยมชมบ้านนักสะสมบอนไซในประเทศไทยท่่านหนึ่ง ได้นำชมสวนจนทั่ว แต่ผู้เขียนกลับมาสะดุดกับซากต้นสนขาว (White Pine) ที่ตายไปแล้วแต่ท่านได้เก็บซากไว้เป็นที่ระลึก จึงหยุดยืนดูซากที่ยังคงมีใบแห้งติดนั้นอยู่นาน ท่านจึงได้ย้ำให้ผู้เขียนเชื่อในสิ่งที่เคยรับรู้มาอีกครั้งว่า "ต้นสนนำเข้าไม่สามารถเลี้ยงในเมืองไทยได้ แต่อยากลองวิชาว่าได้หรือไม่ได้ด้วยตัวเอง...ตอนนี้เชื่อแล้วว่าเลี้ยงไม่ได้" ทำให้ผู้เขียนยิ่งเชื่ออย่างสนิทใจว่าทั้งชีวิตนี้คงไม่มีทางได้เลี้ยงสนนำเข้าอย่างแน่นอน ขนาดคนขายเมื่อหลายปีก่อนและนักสะสมยืนยันเป็นเสียงเดียวกัน
หลังจากนั้นอีก 5 ปี ผู้เขียนเริ่มเดินทางไปหาซื้อต้นไทรจากต่างประเทศ ซึ่งทุกครั้งที่ไปก็ได้เห็นต้นสนจูนิเปอร์สวยๆหลายต้น จึงเกิดความสงสัยว่าทำไมเค้าเลี้ยงทั้งต้นไทรและสนในที่เดียวกันได้? เป็นจุดที่ผู้เขียนเริ่มมีความหวังและตัดสินใจทดลองซื้อมาเลี้ยงโดยใช้เวลาอยู่นานในการสอบถามนิสัยที่ต้นไม้ชอบ, ลักษณะดินที่ใช้, ปุ๋ย, การตัดแต่ง รวมทั้งรายละเอียดอื่นๆ และศึกษาเพิ่มจากหนังสือญี่ปุ่น ซึ่งย้อนเวลาไปช่วงก่อนที่จะซื้อนั้นเข้าใจว่าเป็นต้นไม้เมืองหนาว คงไม่ชอบแดด และคงต้องการน้ำชุ่มๆตลอดเวลา ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดทั้งหมด เมื่อได้รับข้อมูลที่ถูกต้องแล้วนำมาทดลองเลี้ยงพบว่าเลี้ยงแล้ว 3 ปีต้นไม้ยังสมบูรณ์แข็งแรงดี จึงทำให้มั่นใจว่าสามารถเลี้ยงในเมืองไทยได้อย่างแน่นอน จึงเริ่มสงสัยว่าทำไมข้อมูลที่ได้รับจากผู้ขายเมื่อกว่า 30 ปีก่อน กับนักสะสมท่านนั้นในช่วงเวลาต่อมาจึงยืนยันว่าไม่สามารถเลี้ยงได้ แต่ทำไมเราถึงเลี้ยงได้!!!!
เมื่อย้อนกลับไปคิดถึงเหตุการณ์เหล่านั้น ทำให้เข้าใจเหตุผล และที่มาของคำตอบจากแต่ละท่าน...ซึ่งไม่ขออธิบายในที่นี้
ในขณะนี้ผู้เขียนได้เลี้ยงเฉพาะสนและไม้นำเข้าชนิดต่างๆเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว และขอยืนยันว่าต้นสนจูนิเปอร์, สนดำ, สนแดง และไม้นำเข้าอีกหลายชนิดสามารถเลี้ยงในเมืองไทยได้อย่างแน่นอน (แต่ก็ไม่ทุกชนิด) และต้นสนยังดูแลง่ายกว่าไม้ในประเทศบางชนิดด้วยซ้ำ ดังนั้น หากท่านผู้อ่านจะเริ่มเลี้ยงสนหรือไม้นำเข้า ควรศึกษาหรือสอบถามนิสัยของต้นไม้นั้นๆอย่างละเอียดจากผู้รู้จริง ไม่ใช่จากผู้ขายที่ต้องการแต่จะขายต้นไม้เท่านั้น เนื่องจากผู้ขายที่ต้องการเพียงแต่จะขายไม้ให้ได้นั้นอาจให้ข้อมูลผิดๆกับท่านได้ ยกตัวอย่างเช่น หากต้นสนที่นำเข้ามาไม่ได้ถูกดูแลอย่างดีระหว่างนำเข้า ทำให้บางกิ่งตายหรือกำลังจะตายทั้งต้น ใบแห้งเป็นสีน้ำตาล ฯลฯ แล้วแจ้งลูกค้าว่าต้นไม้กำลังจะผลัดใบเป็นเรื่องปรกติและขายถูกๆ ซึ่งผู้ที่ซื้อไปก็เลี้ยงต้นนั้นต่อไปได้ไม่นานก็ตาย ทำให้คิดว่าต้นสนเลี้ยงยากบ้าง เลี้ยงในเมืองไทยไม่ได้บ้าง ฯลฯ เหล่านี้เป็นสาเหตุก่อให้เกิดความเชื่อผิดๆเป็นวงกว้าง
หรืออีกกรณีหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือต้นเมเปิ้ล โดยธรรมชาติของต้นไม้ในประเทศจะไม่มีการผลัดใบเป็นเวลานานๆ ทำให้เราคุ้นเคยอยู่กับต้นไม้ที่ต้องมีใบอยู่ตลอดเวลา หากต้นไหนไม่มีใบเกินกว่า 2-3 อาทิตย์ เราจะสันนิฐานว่าตายแล้วอย่างแน่นอน ซึ่งผู้เขียนก็เคยคิดเช่นนี้มาก่อน โดยเฉพาะกับต้นเมเปิ้ล และต้นซากุระที่ผู้เขียนซื้อมาจากญี่ปุ่นแล้วเลี้ยงไว้สักระยะ พบว่าใบเริ่มร่วงหมดต้นแต่ก็ยังเพียรรดน้ำต่อไปอีก 3 อาทิตย์ เมื่อเห็นว่าใบไม่ขึ้นแน่แล้วก็คิดจะยกทิ้งเพื่อเอากระถางมาใช้ แต่ด้วยความเสียดายจึงตัดกิ่งเล่น...กลับพบว่าภายในเนื้อยังสดอยู่ ทำใหคิดถึงธรรมชาติของต้นไม้ชนิดนี้ในต่างประเทศที่มีระยะเวลาผลัดใบหลายเดือน และเมื่อนำกลับมาเลี้ยงตามปรติ หลังจากนั้นอีก 2-3 เดือนใบใหม่ก็ขึ้น ซึ่งจะเป็นอย่างนี้ทุกปีแต่ต่างกันที่ระยะเวลาในการผลัดใบจะสั้นลงเรื่อยๆนับจากเริ่มนำเข้าและขึ้นอยู่กับอายุต้นไม้นั้นๆด้วย ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้สอนให้ผู้เขียนต้องศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อน
การเลือกกระถางให้เหมาะกับต้นไม้
กระถางแบ่งได้หลายประเภท อาทิเช่น ตามรูปทรง, สีสรร, ขนาด, วัตถุดิบ ฯลฯ ซึ่งหลักการในการเลือกกระถางให้เหมาะกับต้นไม้มีดังนี้
1. เป็นกระถางที่สามารถระบายน้ำได้ดีไม่มีน้ำขัง
ใต้กระถางแต่ละใบจะมีรูระบายน้ำตั้งแต่ 1 รูขึ้นไป บางใบมีถึง 20 รู ดังนั้นหากพิถีพิถันและใส่ใจมาก ควรศึกษานิสัยพันธุ์ไม้ที่เราจะนำมาใส่ในกระถางใบนั้นๆกับปริมาณรูระบายน้ำ
อาทิเช่น ต้นสนชอบดินที่ไม่แฉะและโปร่ง กระถางที่นำมาใช้ควรมีรูระบายน้ำมาก หรือรูที่ใหญ่กว่าปรกติเมื่อเทียบขนาดของกระถางกับต้นไม้
แต่หากเป็นต้นโมก อาจจะชอบน้ำมากจำนวนรูระบายน้ำอาจไม่ต้องมากเท่ากระถางที่จะใช้กับต้นสน
2. สัดส่วนของกระถางกับต้นไม้
ผู้เขียนเห็นต้นไม้ในประเทศหลายต้นที่มีความสวยงามไม่แพ้ต้นไม้จากญี่ปุ่น แต่เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของกระถางแล้ว กลับทำให้ไม้ต้นนั้นลดคุณค่าของตัวเองไปทันที
เพราะเลือกใช้กระถางที่มีขนาดใหญ่กว่าที่ควรมาก จะเห็นได้จากบอนไซที่จบสมบูรณ์แล้วของญี่ปุ่นจะเลือกใช้กระถางที่ไม่โดดเด่นไปกว่าตัวต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นขนาด สี ลวดลาย ฯลฯ แต่เป็นการเสริมให้ต้นไม้นั้นสามารถโชว์ความงามได้อย่างเต็มที่
หลักการง่ายๆคือการที่เรามองไปที่ต้นไม้นั้นๆแล้วสายตาเราจะถูกต้นไม้ดึงดูดไปก่อนที่จะเห็นกระถาง หรือการที่เรามองแล้วไม่รู้สึกว่ามีกระถางร่วมอยู่กับต้นไม้นั้น
หมายเหตุ ความคิดเห็นดังกล่าวข้างต้นสำหรับไม้ที่จบสมบูรณ์แล้วเท่านั้น หากเป็นไม้ที่ยังไม่จบสมบูรณ์ หรืออยู่ระหว่าง Training ไม่จำเป็นต้องใช้กับความคิดเห็นดังกล่าว
3. สีของกระถางกับพันธุ์ไม้
ส่วนใหญ่ไม้ที่มีใบเขียวตลอดปี, ไม่มีดอกหรือผล และลำต้นเป็นสีเปลือกไม้ปรกติจะใช้กระถางไม่เคลือบสีน้ำตาลที่ทำจากดินเผา เพื่อเสริมให้ความเขียวของใบโดดเด่นที่สุด
ส่วนต้นไม้ที่เป็นไม้ดอกมีสีหลากหลาย, ต้นไม้ที่มีผลหรือใบเป็นสีต่างๆตามฤดู และต้นไม้ที่มีเปลือกสีอ่อน จะนิยมใช้กระถางสีต่างๆ เช่นน้ำเงิน, ฟ้า, เขียว, แดง ฯลฯ
ทั้งนี้เพื่อเสริมความมีสีสันให้กับต้นไม้ได้อย่างเต็มที่
การรดน้ำที่ถูกต้อง
1. ต้องมั่นใจว่าการรดน้ำแต่ละครั้ง น้ำได้ซึมผ่านจากผิวดินสู่รูระบายน้ำก้นกระถาง และได้รดน้ำทั่วทุกพื้นผิว โดยเฉพาะด้านหลังของต้นไม้
2. ความถี่ในการรดน้ำขึ้นอยู่กับอุณหภูมิในแต่ละช่วง เนื่องจากการระเหยของน้ำจากดินในแต่ละฤดูไม่เท่ากัน บางฤดูมีความชื้นสูงอาจรดน้ำวันละ 1-2 ครั้ง แต่บางฤดูที่ร้อนมากทำให้ดินแห้งเร็วอาจต้องรดน้ำวันละ 2-4 ครั้ง ขึ้นอยู่กับขนาดกระถาง
3. อุปกรณ์ที่ใช้ในการรดน้ำไม่ควรปล่อยน้ำออกมาแรงจนเกินไป หรือแรงขนาดกระแทกหน้าดินอยู่เป็นประจำ เนื่องจากจะทำให้ดินแน่นเร็ว รากขาดอากาศหายใจ และ เป็นสาเหตุให้ไม้ไม่แข็งแรงเท่าที่ควร นอกจากกนี้ยังทำให้ต้องเปลี่ยนดินเร็วขึ้น
การให้ยากำจัดแมลงและเชื้อรา
ผู้เขียนเคยได้ยินว่าหากต้นไม้ไม่เป็นไรก็ไม่ต้องให้ยากำจัดแมลงและเชื้อรา แต่ผู้เขียนกลับเห็นตรงกันข้าม เนื่องจากหากเกิดแมลงหรือเชื้อราแล้วอาจช้าเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ทัน หรือการเกิดแมลงและเชื้อรานั้นๆอาจทำให้ไม้อ่อนแอและใช้เวลานานกว่าจะกลับมาแข็งแรงใหม่ หรืออาจทำให้ต้นไม้จากไปก่อนเวลาอันควร ดังนั้นจึงแนะนำให้ใส่ทุกอาทิตย์สำหรับฤดูฝน ส่วนฤดูร้อนและฤดูหนาว 2-3 อาทิตย์/ครั้ง เป็นอย่างน้อย
การให้ปุ๋ย
เหตุผลของการให้ปุ๋ยในบอนไซนั้นเพื่อให้ต้นไม้มีความแข็งแรง ไม่ใช่เพื่อเร่งให้โต (สำหรับไม้ที่จบแล้ว) ดังนั้นการให้ปุ๋ยจึงควรให้แต่น้อยเพียงพอแค่สร้างความแข็งแรง ปุ๋ยที่ใช้ควรเป็นปุ๋ยจากธรรมชาติ เนื่องจากปุ๋ยเคมีเป็นสาเหตุให้ดินแข็งและเสียเร็ว
YEAR 2012 YEAR 2010
YEAR 2010 YEAR 2012
YEAR 2010 YEAR 2012
YEAR 2010 YEAR 2012